1. ปางประสูติ
เมื่อนางศิริมหามายา (พระพุทธมารดา)
ทรงพระครรถ์ใกล้จะประสูตินั้น ได้เสด็จไปเยี่ยมนครเทวทหะ
ซึ่งเป็นสกุลเดิมของพระนาง ครั้นเสด็จไปถึงลุมพินีวัน
ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง กรุงกบิลพัสดุ์ กับ
นครเทวทหะแต่ค่อนไปทางนครเทวทหะ พระนางศิริมหามายาได้หยุดประพาส ณ
ลุมพินีวัน และพระนางก็ประชวรพระครรภ์
ได้ทรงโน้มเหนี่ยวกิ่งไม้สาละต้นหนึ่งด้วยพระหัตถ์ขวา
ประสูติพระโพธิสัตว์กุมารในระหว่างต้นไม้รังคู่ซึ่งมีดอกเต็มต้น
ในมหามงคลดิถีวิสาขะนักขัตฤกษ์ เพ็ญเดือน 6
วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ ปีจอ ก่อนพระพุทธศักราช 80 ปี
เวลาสายใกล้เที่ยง ณ ท่ามกลางเหล่านารีบริพาร และหมู่เทวดา
มีพระอินทร์ พระพรหม เป็นอาทิตามนัยแห่งปฐมสมโพธิกถากล่าวว่า
เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์นั้น ท้าวสุทธาวาสมหาพรหม
ได้เอาข่ายทองรองรับพระวรกาย มิทันตกถึงพื้น
ต่อจากนั้นพระโพธิสัตว์ ได้เสด็จประทับยืนเหยียบพื้นแผ่นดิน
บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ แล้วย่างพระบาทไปบนพื้นทอง
ซึ่งท้าวจตุโลกบาลถือรองรับได้เจ็ดก้าวประทับยืนบนดอกบัวทิพย์อันมีกลีบร้อยกลีบ
และเปล่งพระวาจาเป็นบุรพนิมิตแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ
จากผลการตรวจค้นศิลปโบราณวัตถุสถาน ยุติแน่ในเวลานี้ว่า
ลุมพิณีที่ประสูติของพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในเขตประเทศเนปาล
มีเสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้ประดิษฐานไว้เป็นที่กำหนด
ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 12 กิโลเมตร
บัดนนี้ รัฐบาลแห่งประเทศเนปาล ด้วยความร่วมมือของสมาคมธัมโมทายสภา
ได้ชักชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาร่วมกันฟื้นฟูบูรณะในกาลต่อไป
พระพุทธรูปปางประสูติ ทำเป็นพระรูป พระนางศิริมหามายา
(พระพุทธมารดา) ประทับยืนพระหัตถ์ทรงเหนี่ยวกิ่งต้นรัง
และมีรูปพระโพธิสัตว์กุมารประทับยืน มีรูปพระอินทร์ พระพรหม
หมู่เทวดา และ เหล่านารีราชบริพารแวดล้อม บางทีทำตามมติ
ไม่นิยมสร้างรูปเคารพก็ทำแต่เพียงรูปพระนางศิริมหามายาประทับยืน
พระหัตถ์ทรงเหนี่ยวกิ่งไม้เท่านั้นก็มี
|