พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี
ปางตรัสรู้ หรือปางสมาธิ
ลักษณะพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ
พระหัตถ์ทั้งสองหงายวางซ้อนกัน บนพระเพลา
คือพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ขาวทับพระชงฆ์ซ้าย
ประวัติและความสำคัญ
เมื่อพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ ทรงกำจัดพญามาร
และเสนามารให้ปราชัยด้วยพระบารมี
ตั้งแต่เวลาสายัณห์มิทันพระอาทิตย์จะอัสดง
ก็ทรงเบิกบานพระทัยได้ปีติเป็นกำลังภายในสนับสนุนเพิ่มพูนแรงปฎิบัติภาวนาให้ยิ่งขึ้น
ดังนั้น
พระองค์จึงมิได้ทรงพักให้เสียเวลาทรงเจริญสมาธิภาวนาทำจิตใจให้ปราศ
จากอุปกิเลสจนจิตสุขุมเข้าโดยลำดับ ไม่ช้าก็ได้บรรลุปฐมฌาน
ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน อันเป็นส่วนรูปสมบัติตามลำดับ
ต่อจากนั้น ก็ทรงเจริญญานอันเป็นองค์ปัญญาชั้นสูง ๓ ประการ
ยังองค์พระโพธิญาณให้เกิดขึ้นเป็นลำดับ
ตามลำดับแห่งยามสามอันเป็นส่วนราตรี นั้นคือ ในปฐมยาม
ทรงบรรลปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
สามารถระลึกอดีตชาติที่พระองค์ทรงบังเกิดมาแล้วทั้งสิ้นได้
ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจตูปปาตญาณ หรือทิพจักขุญาณ
สามารถหยั่งรู้การเกิด การตาย
ตลอดจนการจุติและปฎิสนธิของสัตว์ทั้งหลายได้หมด ในปัจฌิมยาม
ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ
ทรงพระปรีชาสามารถทำอาสวะกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไป
ด้วยปัญญาพิจารณาในปัจจยาการแห่งปฏิจจสมุปบาท
โดยอนุโลมและปฏิโลมทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ
สาวไปข้างหน้าและสาวกลับไปมาแล้ว ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลา ปัจจุสสมัยรุ่งอรุโณทัย
ทรงเบิกบานพระหฤทัยอย่างสูงสุดในการตรัสรู้อย่างไม่เคยมีมาก่อน
ถึงกับทรงเปล่งอุทานเย้ยตัณหา
อันเป็นตัวการก่อให้เกิดสงสารวัฏฏทุกข์แก่พระองค์หลายเอนกชาติว่า
"นับแต่ตถาคตท่องเที่ยวสืบเสาะหานายช่างเรือนคือตัณหา
ตลอดชาติอันจะนับประมาณมิได้ ก็มิได้พบท่านเลย นับแต่นี้ไป
ท่านจะทำเรือนให้ตถาคตไม่ได้อีกแล้ว กลอนเรือนเราก็ได้รื้อเสียแล้ว
ช่อฟ้าเราก็ทำลายแล้ว
จิตของเราปราศจากสังขารเครื่องปรุงแต่งมีกิเลสไปปราศแล้ว
เราถึงความดับสิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว"
ในขณะนั้นมหาอัศจรรย์ก็บังเกิดมีขึ้น กล่าวคือ
พื้นมหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็หวั่นไหว
พฤกษาชาติทั้งหลายก็ผลิตดอกออกช่องามตระการตา
เทพเจ้าทุกข์ชั้นฟ้าก็แซ่ซ้องสาธุการโปรยปรายบุปผามาลัยทำสักการะบูชา
เปล่งวาจาว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก
ด้วยปีติยินดีเป็นเหตุอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีมาก่อน
เรื่องนี้จึงเป็นมูลเหตุให้มีการสร้างพระพุทธรูปปางตรัสรู
เพื่อเป็นพุทธานุสสติ ฉะนี้แล
คาถาสวดบูชา
ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง โมระโยนิยัง เยนะ สังวิหิตารักขัง
มหาสัตตัง
วเนจรา จิรัสสัง วายะมันตาปิ เนวะ สักขิงสุ คัณหิตุง ฯ |